กรดเกลือ Hydrochloric Acid


กรดเกลือหรือกรดไฮโดรคลอริกเป็นสารประกอบเคมีประเภทกรดละลายในน้ำ โดยเป็นสารละลายไฮโดรเจนคลอไรด์ในน้ำ มีสูตรเคมีคือ HCl มีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งแก๊สและของเหลว

  • ถ้าพบในรูปของเหลว เรียกว่า Hydrochloric acid (กรดเกลือ)
  • ถ้ามีสถานะเป็นแก๊ส เรียกว่า Hydrogen chloride
  • กรดเกลือเป็นสารที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน มีฤทธิ์ผุกร่อนอย่างรุนแรง     

         กรดไฮโดรคลอริก ถูกค้นพบโดย จาเบียร์ เฮย์ยัน (Jabiribn Hayyan) ถูกใช้อย่างกว้างขวางในการผลิตสารประกอบอินทรีย์ เช่น ไวนิลคลอไรด์ สำหรับผลิต PVC พลาสติก และ MDI/TDI (Toluene Dissocyanate ) สำหรับผลิตโพลิยูริเทน (Polyurethane) และใช้ในการผลิตขนาดเล็ก เช่น ผลิตเจลาติน ใช้ปรุงอาหาร ใช้ฟอกหนัง
         กรดเกลือในห้องปฏิบัติการใช้ในการผลิตสารประกอบคลอไรด์ และใช้ในการแยกแร่ให้บริสุทธิ์ เช่น แร่สังกะสี แทนทาลัม เป็นต้น และมักใช้กรดเกลือ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำยาล้างห้องน้ำ เพราะกรดเกลือมีคุณสมบัติในการกัดกร่อนคราบสกปรก ทำให้การทำความสะอาดสุขภัณฑ์ทำได้ง่าย

         ในร่างกายมนุษย์ ในส่วนของกระเพาะอาหารมีกรดเกลือ ทำหน้าที่ช่วยในการทำงานของเอ็นไซม์เปบซิน เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร
         กรดเกลือ จัดเป็นกรดแก่ เนื่องจากมีความสามารถในการแตกตัวได้ 100% สามารถเขียนสมการแสดงการแตกตัวได้ดังนี้

                   HCl +  H2O    ------>     H+   +  Cl-  หรือ
                   HCl +  H2O    ------>    H3O+  + Cl-


พิษของกรดเกลือที่มีต่อร่างกาย

 
  1. ระบบทางเดินหายใจ กรดเกลือทำให้เกิดอาการระคายเคืองจมูก ลำคอ และเยื่อบุทางเดินหายใจ เมื่อสูดดมเข้าไป 35 ppm จะเริ่มเกิดอาการ หากสูดดมเข้าไป 50 – 100 ppm อาการจะรุนแรง ทำให้เนื้อเยื่อบวม จนอุดตันทางเดินหายใจและ suffocation ได้ ผู้ที่ได้รับพิษรุนแรงจะมีอาการหายใจหอบ หายใจไม่ทัน เนื่องจากภาวะอุดกั้นหลอมลมขนาดเล็ก บางรายอาจเกิดภาวะปอดบวมน้ำซึ่งอันตรายอย่างมาก สำหรับในเด็ก อาจเกิดอาการคล้ายหืดหอบ
  2. สมดุลกรด – เบส ในร่างกาย อาจเกิดขึ้น เมื่อได้รับกรดเกลือในระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานกรดเกลือเข้าไป จะทำให้มีอัตราการเผาผลาญสารอาหารมากกว่าปกติ อาจทำให้เสียชีวิตได้
  3. ผิวหนัง เมื่อได้รับพิษจากกรดเกลือโดยการสัมผัสบริเวณผิวหนังในปริมาณมาก จะทำให้เกิดแผลลึกคล้ายไฟไหม้  น้ำร้อนลวก และอาจจะเกิดแผลที่เยื่อบุ หรือถ้าได้รับปริมาณน้อย (สัมผัสกรดเกลือที่เจือจาง)จะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบและระคายเคือง หากเกิดในเด็กจะมีความรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่
  4. พิษต่อตา ไอระเหยของไฮโดรเจนคลอไรด์ หรือกรดเกลือ ทำให้เซลล์กระจกตาตาย เลนต์ตาเกิดเป็นต้อกระจก  และความดันภายในลูกตาเพิ่มขึ้นจนเป็นต้อหินได้ กรณีที่สัมผัสกับสารละลายที่เจือจาง จะเกิดแผลที่กระจกตาด้านนอก
  5. ระบบทางเดินอาหาร ก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง กลืนลำบาก คลื่นใส้ อาเจียน การได้รับพิษโดยการกินกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น จะทำให้เกิดการหลุดลอกของเยื่อบุหลอดอาหารและกระเพาะอาหารเกิดเป็นแผล ภายในมีเลือดออก แผลอาจทะลุได้
  6. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษจากการกิน การสัมผัสในปริมาณสูง โดย HCl ทำให้ความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร และระบบสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกายเสียไป ทำให้ปอดทำหน้าที่ผิดปกติ


การป้องกัน
 


     เนื่องจากกรดเกลือมักจะเป็นพิษต่อทางเดินหายใจ และผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ จึงมีวิธีการป้องกันดังนี้

  1. ควรจัดให้ปฏิบัติงานในห้องที่มีระบบระบายอากาศดี

  2. ควรสวมแว่นตานิรภัยหรือหน้ากากป้องกันไอกรด

  3. ควรสวมถุงมือชนิดยาวถึงศอก หรืรองเท้าที่ทำจาก PVC