ระบบกำจัดสนิมเหล็กในน้ำ


บางพื้นที่ของประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ก็มักพบสารปนเปื้อนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะสนิมเหล็กที่นับเป็นสิ่งสกปรกสำคัญที่ก่อปัญหาให้แก่ผู้ใช้น้ำบาดาล ทำให้น้ำมีสีแดงขุ่น และมีกลิ่น รวมทั้งก่อให้เกิดคราบสนิมเคลือบตามเครื่องสุขภัณฑ์ และมักตกตะกอนอุดตันตามช่องว่างของท่อและเครื่องสูบ
เหล็กที่ละลายอยู่ในนํ้ามีอยู่ 2 แบบ คือ Fe2+ (Ferrous) ซึ่งเหล็กในแหล่งน้ำใต้ดินจะอยู่ในรูปของเฟอร์รัสไบคาร์บอเนต (Fe(HCO3)2) ซึ่งละลายน้ำ แต่เมื่อขึ้นมาจากใต้ดินทิ้งไว้ในบรรยากาศสักครู่ก็จะขุ่นและตกตะกอนกลายเป็น เฟอร์ริคไฮดรอกไซด์ Fe(OH)3 ที่มีสีเหลืองแดง ซึ่งก็คือ Fe3+ นั่นเอง
 
Fe2+ สามารถละลายน้ำได้ และไม่คงที่ เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศจะเปลี่ยนไปเป็น Fe3+ ซึ่งไม่สามารถละลายนํ้าได้ และจะตกเป็นตะกอน สังเกตได้จากการสูบนํ้าที่มีเหล็กมากๆ ใส่ลงในขวด ตอนแรกนํ้าจะใส แต่เมื่อทิ้งไว้สักครู่นํ้าจะกลายเป็นสีนํ้าตาลขุ่น และมีตะกอนของสนิมเหล็กนอนก้น
 
ปัจจุบันมีวิธีที่สามารถกำจัดสนิมเหล็กและสิ่งปนเปื้อนออกจากน้ำบาดาล โดยการทำให้สนิมเหล็กในรูปที่ละลายน้ำเปลี่ยนเป็นสนิมเหล็กที่อยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ โดยอาการเติมอากาศ และการใช้สารเคมี (ในการบำบัดน้ำเชิงพาณิชย์ มักต้องใช้สารเคมีเพื่อเร่งปฏิกิริยาให้สนิมเหล็กเกิดเป็นตะกอนให้เร็วเพียงพอในการกรองน้ำปริมาณมาก) จากนั้นจะแยกตะกอนเหล่านั้นออกโดยการตกตะกอน หรือการกรอง (ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำดิบ) เพื่อกำจัดตะกอนส่วนใหญ่ออกไป จากนั้นจึงนำน้ำกรองที่ได้ผ่านสารกรองที่มีคุณสมบัติเฉพาะในการกำจัดสนิมเหล็กที่อยู่ในรูปที่ละลายน้ำออก เพื่อให้สนิมเหล็กในน้ำมีปริมาณลดลง เพื่อให้ได้คุณภาพน้ำที่ผู้ใช้ต้องการ